วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

ประวัติการเพาะพันธุ์ปลา

ประวัติการเพาะพันธุ์ปลา


         ปลาจัดได้ว่าเป็นสัตว์น้ำที่ได้มีการเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่โบราณ  มีรายงานทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย  โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  พบว่า  การเลี้ยงปลาเริ่มมีที่อียิปต์เป็นเวลาประมาณ  4,000  ปีมาแล้ว  (2000 B.C.)  โดยในสมัยของกษัตริย์  Maeris  ได้พบภาพแกะสลักโบราณในสุสานแสดงถึงการปล่อยปลานิล  (tilapia)  รวมกับปลาชนิดอื่น ๆ  22  ชนิด  ในทะเลสาบ  และนอกจากนี้ภาพวาดยังแสดงถึงการสร้างบ่อเลี้ยงปลาในบริเวณสวน  โดยมีช่องทางระบายน้ำออกตรงกลางบ่อ  เพื่อจับปลาทั้งหมด  (Hickling,  1971)
             สำหรับทวีปเอเชีย เริ่มมีการเลี้ยงปลาเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ  4,600  ปีมาแล้ว  (2698 B.C.)  โดยปลาชนิดแรกที่เลี้ยงคือ  ปลาไน  (common  carp)  และคาดว่าการเลี้ยงปลาเริ่มในเวลาใกล้เคียงกับการเลี้ยงและการผลิตไหม  (silkworm  production)  เนื่องจากตัวอ่อนหนอนสามารถนำมาเป็นอาหารสมทบให้ปลาในบ่อได้  (Hickling,  1971)  ส่วนประเทศต่าง ๆ  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำช้ากว่าจีน  โดยมีการพัฒนาการไม่กี่ร้อยปีนี้เอง  โดยส่วนใหญ่พัฒนามาจากการจับปลา  (simple – trapping)  มาเป็นการจับแล้วพักปลา  (trapping – holding)  แล้วเป็นการจับแล้วเลี้ยงปลา  (trapping – holding – growing)  และในที่สุดก็เป็นที่สมบูรณ์แบบ  (complete  husbandry  practices)  (Ling, 1977)  ประเทศต่าง ๆ  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในระยะแรกจะมีชาวจีนเข้าไปอาศัยอยู่ซึ่งพวกเขาได้นำปลาไนไปเลี้ยงด้วย  เนื่องจากปลาไนมีความทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ๆ  แม้จะถูกกักขังในภาชนะขนาดเล็กและชาวจีนเหล่านี้ก็แนะนำวิธีการเลี้ยงปลาให้ชาวท้องถิ่น  ทำให้เทคนิคการเลี้ยงปลาได้รับการถ่ายทอด  และปลาไนก็มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในที่สุดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จึงค่อยมีการปรับปรุงพัฒนาวิธีการเลี้ยงปลาท้องถิ่นแต่ละชนิดของตนเอง  โดยอาศัยจุดเริ่มต้นจากการเลี้ยงปลาไน  เช่น  ญี่ปุ่น  อินโดนีเซีย  เวียดนาม  ไทย  เขมร  ฟิลิปปินส์  ได้เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม  (traditional  system)  มาเป็นวิธีการเลี้ยงแบบพัฒนา  (intensive  system)                        

การเพาะเลี้ยงปลาของจีน             
             Fan Lee (473 B.C.)  นักเพาะเลี้ยงปลาชาวจีนได้แต่งหนังสือ  “Treatise  on  Pisiculture”  ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของจีนเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลา  โดยเขียนจากประสบการณ์การเลี้ยงปลาไนของเขา  ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยลักษณะบ่อปลา  วิธีการรวบรวมปลาไน  และการเจริญเติบโตของลูกปลาไน  โดยได้อธิบายการเลี้ยงปลาแบบง่าย ๆ  แต่ก็เป็นที่ยอมรับทางหลักชีววิทยา  เช่น  เขาอธิบายการสร้างบ่อปลาว่าควรมีการสร้างเกาะเล็ก ๆ  ไว้ตรงกลางบ่อเพื่อปลาจะได้ว่ายน้ำรอบเกาะ  เพื่อให้ปลารู้สึกเหมือนกับว่ายน้ำในแม่น้ำหรือทะเลสาบ  และก็ยังได้อธิบายเทคนิคการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาไน  เพื่อผสมพันธุ์วางไข่  ซึ่งขณะนั้นประชาชนยังเชื่อว่าปลาเกิดจากเศษใบไม้ที่เน่าเปื่อย  นอกจากนี้ได้อธิบายว่า  ปลาไนมีความเหมาะสมในการเลี้ยงเนื่องจากมีรสชาติอร่อย  ไม่กินกันเอง  เติบโตเร็ว  สามารถจับได้ง่าย  ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ก็ยังคงใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน              ในสมัย  500  B.C. ถึง  500  A.D.  จัดได้ว่าเป็นยุคทองของการเลี้ยงปลาไนของจีน  โดยในสมัยราชวงศ์ฮั่น  (Han  Dynasty : 206  B.C. -  7  A.D.)  มีการเลี้ยงปลาไนอย่างกว้างขวางแพร่หลายมีการขยายการเลี้ยงในบ่อไปสู่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง  (Tang  Dynasty : 618 -  906  A.D.)  ประชาชนถูกห้ามจับขาย และซื้อปลา  เนื่องจากปลาไนในภาษาจีนออกเสียงว่า หลี (Li)  ซึ่งใกล้เคียงกับนามของกษัตริย์องค์หนึ่งของจีน  มีผลทำให้ระงับการเลี้ยงปลาไน  ฉะนั้นการเลี้ยงปลาไนที่พัฒนามาเกือบ  1,000  ปี  จึงหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิง  และจึงมีการเลี้ยงปลา  4 ชนิดขึ้นมาแทนที่  ได้แก่  ปลาเฉา  (grass  carp)  ปลาซ่ง  (bighead  carp)  ปลาเล่ง  (silver carp)   และปลามัดคาร์พ  (mud  carp)  นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนระบบการเลี้ยงปลาชนิดเดียว  มาเป็นระบบการเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกัน              ในสมัยราชวงศ์ซุง  (Sung  Dynasty : 906   -  1120  A.D.)  มีการพัฒนาเทคนิคการรวบรวมและการขนส่งลูกปลามากขึ้น โดยมีการรวบรวมลูกปลาจีนจากแม่น้ำแยงซี  และแม่น้ำเพิร์ดไปขายยังเมืองที่อยู่ไกล ๆ  ที่เจียงซี  (Jiansi)   ฟูเจียง  (Fujian)  และซีเจียง (Zhejiang)  ลูกปลาที่รวบรวมได้จากแม่น้ำก็ได้นำมาเลี้ยงในบ่ออย่างแพร่หลาย  นอกจากนี้  Chow  Mit  ได้อธิบายการขนส่งลำเลียงลูกปลาด้วยครุไม้ไผ่ไว้ในหนังสือ  “Kwei  Sin  Cha  Shik”  โดยได้แต่งในปีคริสต์ศักราช  1243              ในสมัยราชวงศ์มิ๋ง  (Ming  Dynasty : 1368  -  1644  A.D.)  เริ่มมีการพัฒนาเปลี่ยนการเลี้ยงปลาจากแบบกึ่งพัฒนามาเป็นแบบพัฒนา  และมีเทคนิคปลีกย่อยพัฒนามากขึ้นตั้งแต่โครงสร้างบ่อปลา  ความหนาแน่นปลาที่ปล่อย  การเลี้ยงแบบผสมผสาน  การให้อาหารและปุ๋ย  และการควบคุมโรคปลา  เป็นต้น  Heu  Kwang  Chi  ได้แต่งหนังสือ  “A  Complete  Book  of  Agriculture”  โดยเนื้อหาอธิบายถึงการรวบรวมลูกปลาจากแม่น้ำ  และการเลี้ยงลูกปลาในบ่อเป็นส่วนใหญ่              ในสมัยราชวงศ์ชิง  (Ching Dynasty : 1644  -  1911  A.D.)  ก็มีการพัฒนาการเลี้ยงปลาคล้ายราชวงศ์มิ๋ง  และมีการขนส่งและลำเลียงลูกปลาแต่ละชนิดไประยะทางไกล ๆ  ได้มากขึ้น              การเลี้ยงปลาของจีนมีการพัฒนาการเลี้ยงปลา โดยอาศัยความชำนาญที่อาศัยการถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน  โดยไม่ได้ใช้วิทยาการสมัยใหม่จวบจนคริสต์ศักราช 1920  จึงเริ่มมีการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามา  โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีผู้ไปศึกษาต่างประเทศ  และมีนักวิชาการเพาะเลี้ยงปลามาใช้หลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นในการเพาะเลี้ยงปลา  ชาวประมงจีนนับว่ามีประสบการณ์และทักษะอย่างมากในการเลี้ยงปลา  เนื่องจากความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดในเรื่อง  สภาพภูมิอากาศ  สีน้ำในบ่อปลา  พฤติกรรมปลา  คุณภาพน้ำและสุขภาพปลา  และทำให้นักวิทยาศาสตร์ของปลายประเทศในทวีปเอเชีย นำความรู้การเพาะเลี้ยงปลาทางด้านชีวภาพ และกายภาพจากประเทศจีนไปประยุกต์ใช้

การเพาะเลี้ยงปลาของยุโรปและอเมริกา
              ในทวีปยุโรปคาดว่าเริ่มมีการเลี้ยงปลาตั้งแต่สมัยโรมัน  โดยผู้ที่มีฐานะดีเท่านั้นจะทำการเลี้ยงปลา  เพื่อบริโภคเป็นอาหารโดยตรง  และยังไม่มีการเลี้ยงปลาอย่างจริงจังมากนัก  บ่อปลาที่ปรากฏในสมัยกลาง  มักจะอยู่ในบริเวณวัดเป็นส่วนใหญ่  โดยจะมีบ่อขนาดเล็กและมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนพระที่อยู่ในวัด  ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าบ่อเหล่านั้นจะใช้ฟักปลาเพื่อบริโภคเท่านั้น  (store  pond)  ปลาจะถูกนำมาบริโภคส่วนใหญ่ในช่วงฤดูหนาวในขณะที่อาหารประเภทเนื้อชนิดอื่น ๆ  ขาดแคลน และเชื่อได้ว่าในสมัยกลางนั้นปลาจะมีราคาแพง  โดยเฉพาะปลาที่มีความสด  เนื่องจากความต้องการบริโภคปลาของประชาชนมีมากแต่ปริมาณปลาที่หาได้มีน้อย  ทำให้มีราคาแพง  สาเหตุที่หาปลาได้น้อย เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาเครื่องมือประมงจับปลา  ทำให้จับปลาได้ยาก  และอีกทั้งการขนส่งลำเลียงปลาก็มีความยากลำบากทำให้ปลามีราคาแพง  ฉะนั้น  มีผลทำให้มีการจับปลากันอย่างมาก โดยเฉพาะฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวเพื่อการบริโภค (Hickling, 1971)
              การเลี้ยงปลาสมัยใหม่ของยุโรป คาดว่าเริ่มเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษในช่วงคริสต์ศักราช 1400 1500  โดยชาวอังกฤษนำปลาตระกูลปลาจีนมาเลี้ยงโดยมีการสร้างบ่อเพาะพันธุ์  (breeding  pond)  และบ่ออนุบาล  (rearing  pond)  ขนาดเล็กขึ้นมาหลังจากการสังเกตพบว่าในฤดูใบไม้ผลิ  ปลาจะผสมพันธุ์วางไข่ในบ่อ  จึงมีผลทำให้มีการสร้างบ่อเพาะพันธุ์ปลาในเวลาต่อมาและการเลี้ยงปลาของประเทศอังกฤษจึงเริ่มรู้จักแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ  (Hickling, 1971)
              ในคริสต์ศักราชที่ 14  พระชาวฝรั่งเศส  ชื่อ  Dom Pichon  สามารถผสมเทียมปลาเทร้า แล้วนำไปฟักในลำธาร แต่ปรากฏว่าไข่ปลาไม่ฟักออกเป็นตัว สาเหตุที่มีส่วนที่ทำให้เขาผสมเทียมปลา ก็เนื่องจากว่าในบริเวณวัดมีบ่อปลา  และในสมัยนั้น  พระไม่สามารถกินเนื้อสัตว์บกในวันศุกร์จึงกินเนื้อปลาแทน  และก็เกิดความคิดในการเพาะพันธุ์ปลา              ในคริสต์ศักราชที่  17  ทหารบกชาวออสเตรเลีย ชื่อ  Stephen  Ludwig  Jacobi  สามารถผสมเทียมปลาเทร้าจนฟักเป็นตัวได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1757  และได้เขียนลง  Hannoverschen  magazine  ในปี ค.ศ.1763
              ในคริสต์ศักราชที่  18 ประสบผลสำเร็จในการผสมเทียมปลาหลายชนิดมากขึ้น  เนื่องจากการเลี้ยงปลาแพร่หลายประกอบกับความรู้ใหม่ ๆ  มีมากขึ้น  โดยชนิดปลาและปีที่ประสบผลสำเร็จ เช่น  ปลาแซลมอน  (1835)  ปราบรุคเทร้า (1851)  ปลาแอตแลนติคแซลมอน (1864)  ปลาคอด  (1865)  และปลาสเตอเจียน (1868)  เป็นต้น              ในคริสต์ศักราชที่  19  จัดได้ว่าเป็นทศวรรษของความรุ่งเรืองของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นลำดับ  โดยในปี  ค.ศ. 1930  ชาวอาร์เจนตินา  ชื่อ  B.A. Houssay  ริเริ่มนำต่อใต้สมองมาใช้ในการฉีดกระตุ้นปลาให้ผสมพันธุ์วางไข่เป็นครั้งแรก  แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ  และ  ค.ศ. 1934  ชาวบราซิล ชื่อ  R. Von. Ihering จัดได้ว่าเป็นคนแรกประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นปลาให้ผสมพันธุ์วางไข่ด้วยการใช้ต่อมใต้สมอง  ปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยง  การอนุบาล  และการเลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิดของยุโรป และอเมริกามีการพัฒนาค่อนข้างมาก  มีเทคโนโลยีชั้นสูงมาพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลายอย่าง เช่น  การตัดต่อยีนส์ เพื่อผลิตพันธุ์ปลาที่ต้องการ  การผลิตลูกปลาที่โตเร็วมีความทนทานโรงสูงขึ้น เป็นต้น
                      
การเพาะเลี้ยงปลาของไทย
            การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย  ได้เริ่มในสมัยรัชการที่  5  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โดยในปี  พ.ศ.2445  ได้มีประกาศพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ  ทำให้การใช้แหล่งน้ำจับปลาต้องเสียเงิน  ฉะนั้น  การบริหารการประมงในช่วง พ.ศ. 2444 2464  จึงมุ่งเน้นเก็บภาษีอากรมากกว่าการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ  ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติมีจำนวนลดลงจนปริมาณปลาที่จับได้ไม่เพียงพอ และปลาก็มีขนาดเล็กลง            พ.ศ.2464  ได้เริ่มมีการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำขึ้น  โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการจัดปันหน้าที่ราชการในเรื่องการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  เมื่อ  22  กันยายน  2464  โดยกำหนดให้กระทรวงเกษตราธิการมีหน้าที่เกี่ยวกับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  การดูแลรักษาสัตว์น้ำ  การกำหนดฤดูกาลงดจับสัตว์น้ำ  รวมทั้งการกำหนดเครื่องมือจับสัตว์น้ำ  ซึ่งนับไว้เป็นการเริ่มต้นการอนุรักษ์สัตว์น้ำของประเทศและในช่วงนี้เจ้าพระยาพลเทพ  (เฉลิม  โกมารกุล ณ  นคร)  ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้มีดำริให้มีหน่วยงานเพาะพันธุ์ปลาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  หน่วยงานบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ  รัฐบาลจึงได้ติดต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาขอให้ช่วยหาผู้ชำนาญการเรื่องปลามาช่วยวางแผนพัฒนาการประมงของประเทศสยาม  และได้  ดร.ฮิว แมคคอร์มคิ  สมิท  (H.M. Smith)  มาเป็นที่ปรึกษาแผนกสัตว์น้ำของรัฐบาลสยามในปี  พ.ศ. 2466  เพื่อทำการสำรวจชนิดและปริมาณสัตว์น้ำ  ว่ามีมากน้อยเพียงไร  รวมทั้งวิธีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำมีปริมารณลดน้อยลงไป            ดร.สมิท  ได้สำรวจพันธุ์สัตว์น้ำทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็มเกือบทั่วราชอาณาจักร  และได้รายงานการสำรวจพืชพันธุ์สัตว์น้ำ  และการอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ  รวมทั้งข้อแนะนำในการบังคับบัญชา  การอนุรักษ์  และการพัฒนา เช่น  มาตรการป้องกันจำนวนปลา  ไม่ให้มีจำนวนลดลง  โดยการห้ามจับสัตว์น้ำในบางช่วง  และกำหนดขนาดเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำ  ข้อวิจารณ์เหล่านี้ได้เขียนลงในหนังสือ “A Review  of  the  Aquatic  Resources  and  Fisheries  of  Siam,  with  Plans  and  Recommendations  for  their  Administration,  Conservation  and  Development”
            พ.ศ. 2473  ดร.สมิท  ได้แนะนำรัฐบาลสยามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และเสนอให้กำหนดเขตบึงบอระเพ็ด  เป็นที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำและสร้างสถานีประมงบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เป็นสถานีประมงแห่งแรกของประเทศไทย            พ.ศ. 2484  มีการสร้างสถานีประมงกว๊านพะเยา  จ.เชียงราย  เป็นสถานีประมงแห่งที่สองของประเทศ  นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังสร้างเขื่อนระบายน้ำที่หนองหาน จ.สกลนคร  เพื่อเก็บกักน้ำ  และเป็นที่รักษาพืชพันธุ์ในปี พ.ศ. 2484  แต่การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2496  อันเนื่องมากจากมหาสงครามเอเชียบูรพาทำให้การก่อสร้างล่าช้า            พ.ศ. 2485  มีการสร้างสถานีประมงหนองหาน  จ.สกลนคร  เป็นสถานีแห่งที่สามของประเทศ  หลังจากการบูรณะปรับปรุงบึงบอระเพ็ด  กว๊านพะเยา  และหนองหานเป็นที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำในภาคกลาง  ภาคเหนือ  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ตามลำดับ  งานบูรณะแหล่งน้ำก็ลดน้อยลง  ทำให้งานส่วนใหญ่มุ่งเน้นการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  การกำหนดเขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ  ฤดูกาลจับสัตว์น้ำ  และชนิดเครื่องมือประมง เพื่อรักษาสัตว์น้ำให้มีตลอดไป            ในช่วงที่กระทรวงเกษตราธิการเริ่มงานบำรุงรักษาสัตว์น้ำนั้น    กรมรักษาสัตว์น้ำได้จัดส่งข้าราชการไปศึกษาวิชาการเพาะพันธุ์ปลาที่สหรัฐอเมริกา  ตั้งแต่ พ.ศ. 2473  โดยมีผู้ได้รับคัดเลือกรับทุนมหิดล  3  ท่าน  ได้แก่  หลวงจุลชีพพิชชาธร  นายบุญ อินทรัมพรรย์  และนายโชติ  สุวัตถิ  และท่านเหล่านี้ก็ได้นำวิชาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาพัฒนาการประมงของประเทศ  ในเวลาต่อมาโดยอาศัยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์  เพื่อผลิตลูกปลา  จนประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในการผลิตลูกปลาไน  ในปี  พ.ศ. 2486  โดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ            พ.ศ. 2493 กรมประมงได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ  (FAO)  ได้ส่ง  ดร.เชา  เวน  ลิง  (Dr. Shao Wen Ling)  ผู้เชี่ยวชายการเพาะพันธุ์ปลามาช่วยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย  ซึ่งก็ยังช่วยหาทุนให้นักวิชาการประมงไทยไปอบรมหลักสูตรการเพาะเลี้ยงปลาที่อินโดนีเซียและนักวิชาการไทย  ก็นำเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลาหมอเทศของอินโดนีเซียมาผลิตลูกปลาหมอเทศ  และทำให้ปลานิลมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย            พ.ศ. 2509  สามารถเพาะปลาสวายด้วยวิธีการผสมเทียมสำเร็จเป็นครั้งแรก  และการเพาะพันธุ์ปลาสวายด้วยวิธีการผสมเทียมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาชนิดอื่น ๆ  ที่ไม่วางไข่ในบ่อให้วางไข่ได้ในช่วงเวลาต่อมาร (ตารางที่ 1.1)  เทคนิคการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดจึงได้ค่อย ๆ  ประยุกต์ขึ้นมาเพาะพันธุ์ปลาน้ำกร่อย  ปลาทะเลรวมทั้งสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ  ให้ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งปัจจุบัน เช่น  ประสบความสำเร็จในการเพาะฟักกุ้งแชบ๊วย  ซึ่งจัดว่าเป็นกุ้งทะเลชนิดแรกที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในปี พ.ศ.2514  และในช่วงต่อมาก็สามารถประสบผลสำเร็จในการเพาะฟัก และอนุบาลกุ้งกุลาลาย  กุ้งกุลาดำ  หอยแครง  หอยนางนม  หอยแมลงภู่  รวมทั้งสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด  ก็เนื่องมาจากการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์  และเทคโนโลยีมาพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น